โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด (รวมผู้เขียนด้วย) ต้องคิดว่ากาซะลองคำ (กาสะลองคำ) กับปีบทองคือต้นเดียวกันแน่ ๆ
โดยนึกจาก
กาซะลอง = ปีบ , คำ = สีเหลือง สีทอง ดังนั้น กาซะลองคำก็คือปีบทอง
แต่เมื่ออ่านรายละเอียดจาก สารานุกรมพืชในประเทศไทย (The Encyclopedia of Plants in Thailand) ของสำนักงานหอพรรณไม้แล้ว พบว่า ปีบทอง กับ กาซะลองคำ เป็นคนละต้นกัน
ปีบทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Radermachera hainanensis Merr.
วงศ์ Bignoniaceae
ลักษณะ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-25 ม. ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ยาว 20-40 ซม. ใบย่อยรูปรีถึงแกมไข่กลับหรือแกมใบหอก ยาว 4-10 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้าง บางครั้งเบี้ยว มีต่อมประปรายด้านท้องใบใกล้โคนใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ คล้ายช่อกระจะ ยาว 1-4 ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือบนกิ่ง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาว 0.8-1.8 ซม. กลีบดอกรูประฆัง สีเหลืองอมส้ม ปากกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 3.5-5 ซม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านเกสรมีต่อมขนขนปกคลุมส่วนในหลอด จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ คล้ายทรงกระบอก มี 2 ช่อง ออวุลเรียง 2 แถวในแต่ละช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ผลแห้งแล้วแตกตามยาว รูปแถบ ยาว 25-40 ซม. เมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 1.2 ซม. รวมปีกใส
เขตการกระจายพันธุ์ ปีบทองมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะจีนตอนใต้ (ยูนาน, ไหนาน) อินโดจีน ในไทยพบในภาคตะวันออก (เขาใหญ่) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จันทบุรี) และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง ระดับความสูง 100-600 เมตร
กาซะลองคำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Radermachera ignea (Kurz) Steenis
วงศ์ Bignoniaceae
ลักษณะ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ยาว 18-60 ซม. ใบประกอบย่อย 3-4 คู่ ใบย่อยมี 3-5 คู่ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 5-12 ซม. สองด้านมักไม่เท่ากัน ปลายใบแหลมบางครั้งยาวคล้ายหาง โคนใบแหลม มักมีต่อมที่โคนด้านหลังใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ออกตามลำต้นหรือกิ่ง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นกาบตรงประมาณกึ่งหนึ่ง หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1.5-2 ซม. กลีบดอกติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว 4.5-7 ซม. สีส้ม ปลายเป็นแฉกสั้นๆ เกสรเพศผู้มีขนปกคลุม ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ฝักยาว 30-45 ซม.
เขตการกระจายพันธุ์ กาซะลองคำมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ (ยูนาน) พม่า ลาว เวียดนาม ในไทยพบตั้งแต่ภาคใต้แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปทางเหนือทางจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน พบตามป่าดิบแล้งและเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1000 เมตร
ขอบคุณมากครับ
ตอบลบข้อมูลดี มีประโยชน์ครับ . ^^y