ตำแยแมวเป็นพืชอยู่ในสกุล Acalypha spp. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae พบแล้ว 2 ชนิดคือ
Acalypha indica
เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบจัก ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีขนตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบและตามปลายยอด ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง ดอกตัวผู้อยู่ส่วนบน ดอกตัวเมียจะมีใบประดับขนาดใหญ่เป็นรูปถ้วยตื้น ๆ
การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
ทั้งต้น, ราก ใช้เป็นยาถ่าย
ใบ ขับเสมหะ ฆ่าพยาธิ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน
Acalypha lanceolata
เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปไข่ ปล่ายใบแหลม ขอบใบจัก ผิวใบด้านบนมีขน ส่วนด้านล่างมีขนเฉพาะตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกตัวเมียอยู่ส่วนล่าง ดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ดอกตัวเมียมีใบประดับขนาดเล็กเป็นรูปถ้วย
การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
ใบ ใช้บ่มหนองหรือชำระแผล
ตำแย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Laportea interrupta (L.) Chew อยู่ในวงศ์ Urticaceae
เป็นไม้ล้มลุก มีขนหนามทั่วลำต้น ใบเดี่ยว รูปข่ โคนใบหยักเว้าตื้น ๆ หรือโคนใบตัด ปลายใบแหลม ขอบใบจัก ดอกออกตามซอกใบ มีดอกเล็ก ๆ อัดแน่นเป็นกระจุกตามแกนช่อดอกเป็นระยะ ๆ ดอกขนาดเล็ก
การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
ใบ ใช้ชำระแผลเปื่อย
ราก ใช้ชับปัสสาวะ แก้หืด แก้ไอ
ดอก รักษาแผนบนฝ่าเท้า
ข้อควรระวัง ขนหนามทั่วทั้งต้น จะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน คัน และอาจทำให้เกิดลมพิษ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตำแยแมวอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae มีขนปกคลุมแต่ไม่คัน ส่วน ตำแย อยู่ใน Urticaceae มีขนที่ทำให้คัน 2 ต้นนี้สามารถแยกจากกันได้โดยการดูที่ดอกตัวเมีย โดยตำแยแมวจะมีใบประดับรูปถ้วย และผลจะมีลักษณะเป็นพู 3 พู (ให้นึกถึงดอกและเมล็ดของโป๊ยเซียน) ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเด่นสำหรับพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ครับ