วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความแตกต่างระหว่างชงโคดอกเหลือง พญากาหลง และโยทะกา

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงโยทะกา พญากาหลง และ ชงโคดอกเหลือง ส่วนมากมักจะคิดว่าเป็นพืชต้นเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วนั้น...

ก่อนอื่นก็ขอเอ่ยถึงชงโคดอกเหลืองและพญากาหลงก่อนแล้วกันครับ

ชงโคดอกเหลือง 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia tomentosa L. 

วงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE)

ชงโคดอกเหลือง แบ่งแยกย่อยได้เป็น 2 ต้น
ต้นแรกคือ ชงโคดอกเหลือง เป็นสายพันธุ์ที่มีกลีบดอกสีเหลืองล้วน





ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง บางครั้งเรียกว่า พญากาหลง เป็นพันธุ์ที่มีกลีบดอกสีเหลือง โคนกลีบมีสีม่วงเข้มเกือบดำ เมื่อใกล้โรยกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม





ซึ่งสองสายพันธุ์นี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็น โยทะกา แต่เมื่อนำไปอ้างอิงกับสารานุกรมพืช http://www.dnp.go.th/ จะได้ความว่า

โยทะกา 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia monandra Kurz 

วงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE)




ซึ่งทางสารานุกรมพืชได้บรรยายถึงต้นนี้ไว้ว่า ลักษณะดอก ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว 3-6 มม. ติดที่โคนฐานดอก ตาดอกรูปกระสวย ปลายแยกเป็น 5 แฉกเล็ก ๆ ฐานดอกยาว 2.5-3 ซม. กลีบเลี้ยงแฉกลึกด้านเดียว รูปใบพาย ยาว 1.5-2 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ สีครีมอมชมพู มีจุดสีชมพูกระจาย รูปไข่กลับ ยาว 4-5 ซม. มีก้านกลีบสั้นๆ กลีบด้านหลังยาวมีปื้นเป็นจุดสีแดงกระจาย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. มีขนที่โคน อับเรณูยาวประมาณ 6 มม.


ซึ่งจะตรงกับรูปนี้
ที่มาของภาพ : swbiodiversity.org
ที่มาของภาพ : commons.wikimedia.org

ซึ่งจะคล้ายคลึงกับ ชงโคออสซี่ ที่มีการนำมาขายกันในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เมื่อนำไปเทียบชื่อวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ชงโคออสซี่ คือ Bauhinia monandra Kurz เช่นเดียวกับโยทะกา

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คุณนายตื่นสายและแพรเซียงไฮ้

คุณนายตื่นสาย, แพรเซี่ยงไฮ้



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Portulaca sp. 

วงศ์ : Portulacaceae


     เมื่อเอ่ยถึงคุณนายตื่นสาย แพรเซี่ยงไฮ้ หรือสาวเชียงใหม่ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักต้นนี้ เนื่องจากเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการปลูกเพื่อเป็นไม้คลุมดินสำหรับการจัดแต่งสวนมานานมากแล้ว
     แล้วในปัจจุบันก็ได้มีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
     ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ได้รับความนิยมก็คงหนีไม่พ้นความอึด ดอกดก และสวยงาม การขยายพันธุ์ก็ไม่ยาก สามารถปักชำได้อย่างง่าย ๆ ไม่ว่าจะใช้ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ดินร่วน ดินเหนียว ก็สามารถออกรากได้ดี
     แต่ข้อควรระวังอย่างมากก็คือ ระวังรากเน่าซึ่งทำให้โคนและต้นเน่าตาย เกิดได้บ่อย ๆ ในช่วงฤดูฝนเวลาฝนตกหนัก ๆ และไม่ได้แดด
     แต่ถึงจะทนแล้งอย่างไร ก็ไม่ได้ทนถึงขั้นไม่รดน้ำจนแห้งตาย ก็ต้องได้น้ำกันบ้าง 
     ส่วนปุ๋ย ก็สามารถให้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมี (สูตร 16-16-16 หรือสูตรอื่น ๆ ก็ได้) ถ้าใบเหลือง ต้นยาวเกินก็ตัดแต่งแล้วให้ปุ๋ยสักรอบนึง ต้นก็จะงามเหมือนเดิม