วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่านธรณีสาร

ธรณีสาร

Phyllanthus pulcher Wall. ex Mull. Arg.


วงศ์ Phyllanthaceae


ว่านธรณีสาร เป็นไม้พุ่ม อยู่ในสกุล Phyllanthus กลุ่มเดียวกับลูกใต้ใบ

ลักษณะ ใบเป็นใบประกอบ ใบรูปไข่ขอบขนาน ดอกออกใต้ใบประกอบ ดอกแยกเพศ โดยดอกเพศผู้จะออกใกล้โคนใบ ส่วนดอกเพศเมียจะออกบริเวณปลายใบ ดอกสีเหลืองก้านดอกสีแดง ผลกลมเล็ก

การปลูก  ปลูกได้ดีในดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง สามารถปลูกไว้ทั้งในที่รำไรและแดด ออกดอกตลอดปี

การขยายพันธุ์   เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ

ลักษณะต้น

ดอกเพศผู้ออกที่ใกล้ ๆ โคนใบ

ดอกเพศเมียออกปลายใบ

ลักษณะดอกเพศเมียที่ผสมแล้ว กลีบดอกจะลงมาหุ้มผลไว้
พอแง้มกลีบดอกออกก็จะพบผลรูปทรงกลม

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กะทกรก

ลักษณะใบและต้นครับ
กะทกรก  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflora foetida Linn. อยู่ในวงศ์ Passifloraceae

ชื่ออื่น ๆ  รก กระโปรงทอง ตำลึงฝรั่ง เถาเงาะ หญ้ารกช้าง ผักขี้หิด

ดอกกะทกรกครับ
ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุกเลื้อย ลำต้นมีขนปกคลุม ทั้งต้นมีกลิ่นเหม็นเขียว ใบเดี่ยว รูปไข่ ขอบใบหยักเว้า 3 หยัก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้า ออกดอกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ตามซอกใบ แต่ละดอกมีใบประดับ 3 ใบรองรับ ใบประดับรูปไข่ขอบใบเป็นเส้นใยฝอยสีเขียว กลีบเลี้ยง 3-5 กลีบ รูปขอบขนาน มีติ่งยื่นแหลมตรงปลายกลีบ ด้านในสีขาวด้านนอกสีเขียว กลีบดอก 3-5 กลีบ รูปขอบขนาน สีขาว เกสรตัวผู้ มี 5-8 อัน ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน มีระยางค์เส้นยาว ๆ สีม่วงปลายสีขาวจำนวนมาก ผลค่อนข้างกลม สีเขียว เมื่อแก่สีส้มมีใบประดับหุ้มอยู่
ผลดิบมีใบประดับหุ้ม

พบเห็นทั่วไปตามที่ทิ้งร้าง ริมทาง ชายป่า

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
        ใบสด ใช้พอกแผล รักษาโรคผิวหนังจำพวกหิด
        ทั้งต้น ใช้เป็นยาธาตุ ยาอายุวัฒนะ



อันนี้ดักแด้หนอนกะทกรกครับ


ข้อควรระวัง
      ผลสุก ใบ และยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ แต่ผลดิบสดและใบสดมีสารพิษ Cyanogenetic glycoside ถ้ารับประทานในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรนำผลดิบสดและใบสดมาต้มและรับประทานปริมาณน้อย ๆ จึงจะไม่เป็นอันตราย
ออกจากดักแด้แล้วหน้าตาแบบนี้ครับ สวยดี

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อแตกต่างระหว่างตำแยและตำแยแมว ความเหมือนที่แตกต่าง

ตำแยแมวเป็นพืชอยู่ในสกุล Acalypha spp. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae พบแล้ว 2 ชนิดคือ
 Acalypha indica
     เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบจัก ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีขนตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบและตามปลายยอด  ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง ดอกตัวผู้อยู่ส่วนบน ดอกตัวเมียจะมีใบประดับขนาดใหญ่เป็นรูปถ้วยตื้น ๆ
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
               ทั้งต้น, ราก ใช้เป็นยาถ่าย
               ใบ ขับเสมหะ ฆ่าพยาธิ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน

Acalypha lanceolata
     เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปไข่ ปล่ายใบแหลม ขอบใบจัก ผิวใบด้านบนมีขน ส่วนด้านล่างมีขนเฉพาะตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกตัวเมียอยู่ส่วนล่าง ดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ดอกตัวเมียมีใบประดับขนาดเล็กเป็นรูปถ้วย
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
                ใบ ใช้บ่มหนองหรือชำระแผล


ตำแย  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Laportea interrupta (L.) Chew อยู่ในวงศ์ Urticaceae

     เป็นไม้ล้มลุก มีขนหนามทั่วลำต้น ใบเดี่ยว รูปข่ โคนใบหยักเว้าตื้น ๆ หรือโคนใบตัด ปลายใบแหลม ขอบใบจัก ดอกออกตามซอกใบ มีดอกเล็ก ๆ อัดแน่นเป็นกระจุกตามแกนช่อดอกเป็นระยะ ๆ ดอกขนาดเล็ก
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
                ใบ ใช้ชำระแผลเปื่อย
                ราก ใช้ชับปัสสาวะ แก้หืด แก้ไอ
                ดอก รักษาแผนบนฝ่าเท้า
    ข้อควรระวัง  ขนหนามทั่วทั้งต้น จะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน คัน และอาจทำให้เกิดลมพิษ


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตำแยแมวอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae มีขนปกคลุมแต่ไม่คัน ส่วน ตำแย อยู่ใน Urticaceae มีขนที่ทำให้คัน 2 ต้นนี้สามารถแยกจากกันได้โดยการดูที่ดอกตัวเมีย โดยตำแยแมวจะมีใบประดับรูปถ้วย และผลจะมีลักษณะเป็นพู 3 พู (ให้นึกถึงดอกและเมล็ดของโป๊ยเซียน) ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเด่นสำหรับพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ครับ