วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ว่านหางช้าง Belamcanda chinensis



จากข้อมูลในสรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด 

ระบุว่า ว่านหางช้าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ว่านมีดยับ 
Black Berry Lily, Leopard Flower





มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Belamcanda chinensis  (L.) DC. หรือ Iris domestica


อยู่ในวงศ์ IRIDACEAE





ซึ่งจะเป็นคนละชนิดกับว่านหางช้างหรือที่รู้จักกันดีว่า ว่านเพชรหึงซึ่งเป็นกล้วยไม้ในสกุล grammatophyllum วงศ์ Orchidaceae

ว่านหางช้างมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 0.6 - 1.2 เมตร มีเหง้าเลื้อยตามแนวขนานกับพื้นดิน ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงซ้อนสลับ กว้าง 2 - 3 ซม. ยาว 30 - 45 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีส้มมีจุดประสีแดงกระจาย ผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกอ้า และกระดกกลับไปด้านหลัง
ส่วนที่ใช้ :  ราก เหง้าสด ใบ เนื้อในลำต้น

สรรพคุณ :
ราก เหง้าสด  - แก้เจ็บคอ
ใบ -  เป็นยาระบายอุจจาระและแก้ระดูพิการของสตรีได้ดี

เนื้อในลำต้น
-  เป็นยาบำรุงธาตุ แก้โรคระดูพิการของสตรี
-  ใช้บำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
-  ใช้เป็นยาถ่าย

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
แก้เจ็บคอ
ใช้ราก หรือเหง้าสด 5-10 กรัม แห้ง 3-6 กรัม ต้มน้ำรับประทาน

เป็นยาระบาย และแก้ระดูพิการของสตรี
ใช้ใบ 3 ใบ ปรุงในยาต้ม

ความรู้เพิ่มเติม - เกี่ยวกับทางด้านความเชื่อ
          มีความเชื่อกันว่าเป็นว่านมหาคุณ ปลูกไว้หน้าบ้านกันภัยอันตรายต่างๆ เพราะสามารถนำว่านนี้มาใช้ประโยชน์ทางไสยคุณได้ เช่น

ดอก  - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจากผม

ใบ - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจาก เนื้อ

ต้น - ใช้แก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจาก กระดูก
ในภาคอีสาน นิยมปลูกเป็นว่านศิริมงคล แม่บ้านกำลังจะคลอดลูก ใช้ว่านหางช้างนี้พัดโบกที่ท้องเพื่อให้คลอดลูกง่ายขึ้น

การปลูกเลี้ยง
ว่านหางช้างปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่าย ชอบดินร่วน ไม่ชอบน้ำขัง ปลูกได้ตั้งแต่ที่รำไรถึงแดด ที่ไม่มีลมพัดแรง เนื่องจากจะทำให้ใบพับงอได้ง่าย

การขยายพันธุ์  
ใช้วิธีการแยกหน่อหรือเพาะเมล็ด ฤดูออกดอกประมาณเดือน สิงหาคมถึงธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีว่านหางช้างที่ปลูกเป็นไม้ประดับอีกหลายสีเช่น ชมพู เหลือง