ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyperus rotundus Linn.
วงศ์ : Cyperaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้น ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีไหลและหัว ลำต้นสามเหลี่ยม สูง 10-60 เซนติเมตร
ใบ ใบเดี่ยวเกี่ยวกับลำต้นรูปแถบ กว้าง 2-5 มิลลิเมตร ยาวถึง 60 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม กาบใบสีน้ำตาลอ่อน
ดอก ดอกเป็นช่อกระจุกออกรวมเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด ใบประดับมีใบย่อย 9 ใบหรือ มากกว่า รูปไข่ถึงรูปไข่แกมวงรี กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 3-3.5 มิลลิเมตร ปลายมนมีติ่งหนาม โค้งเล็กน้อย สีแดงหรือน้ำตาลแกมม่วง
ผล ผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปทรงกระบอกถึงรูปไข่กลับกึ่งทรงกระบอก มีสามมุม สีน้ำตาล กว้าง 0.5-0.7 มิลลิเมตร ยาว 1.3-1.5 มิลลิเมตร
ขยายพันธุ์ แยกหัว ไหล เมล็ด
ประโยชน์ หัวมีน้ำมันหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการแน่นจุกเสียด
งานวิจัย
1. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์
น้ำมันหอมระเหยจากหญ้าแห้วหมูมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ สารกลุ่มเทอร์ปีนมีฤทธิ์ต้านอาการแพ้ และสาร alpha-cyperone มีฤทธิ์แก้ปวด
2. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
2.1 ฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งและลดการบีบตัวของลำไส้
การทดสอบในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดหญ้าแห้วหมูมีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กของหนูแรท และยังมีผลคลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้กระต่าย
2.2 ฤทธิ์ขับลม
หญ้าแห้วหมูมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีฤทธิ์ขับลม
2.3 ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การทดสอบสารสกัดหญ้าแห้วหมูในหลอดทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรียที่ก่อโรคได้หลายชนิด เช่น เชื้อในโรคทางเดินอาหาร ได้แก่ Escherichia coli, Salmonella sp. เชื้อก่อโรคผิวหนัง ได้แก่ Staphylococcus aureus ส่วนยาต้มจากหัวและลำต้นของหญ้าแห้วหมู มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์อย่างอ่อน นอกจากนี้ ส่วนของน้ำมันหอมระเหยจากหญ้าแห้วหมูยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีเช่นกัน
2.4 ฤทธิ์แก้ปวด
สารสกัด ยาต้มและน้ำมันหอมระเหยจากหัวหญ้าแห้วหมู และตำรับยาที่มีหญ้าแห้วหมูเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อทดลองในหนูแรท ในปัจจุบันมีการจดสิทธิ์บัตรตำรับยาที่มีหญ้าแห้วหมูเป็นส่วนประกอบ ใช้แก้ปวด ปวดประจำเดือน และปวดกระเพาะอาหาร
3. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
4. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
4.1 การทดสอบความเป็นพิษ
การรับประทานสารสกัดด้วยน้ำร้อนของตำรับยาที่มีหญ้าแห้วหมูเป็นส่วนประกอบ ทำให้ผู้หญิงที่ท้องนอกมดลูก 42 คน แท้งโดยจะทำให้ก้อนเนื้อหายไป ไม่มีการตกเลือดและช่วยลดอาการปวด ส่วนการป้อนหนูแรทที่ตั้งท้องด้วยสารสกัดด้วยเอทานอล พบว่าไม่มีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน ระยะเวลาการตั้งครรภ์ และช่วงเวลาในการคลอดของหนู แต่มีผลทำให้มีการสูญเสียลูกหนูมากขึ้น โดยทำให้ลูกหนูฝ่อหายไปหรือคลอดออกมาตาย
ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอล ไม่ว่าจะให้โดยการกรอกทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษใด ๆ
5. วิธีการใช้
5.1 การใช้หญ้าแห้วหมูรักษาอาการแน่นจุกเสียดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
นำหัวแห้วหมู 1 กำมือ (60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตก แล้วต้มในน้ำสะอาด คั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่ม หรือใช้หัวสดครั้งละ 5 หัว โขลกให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง รับประทาน
5.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/cyperus.html