วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระจันทร์ครึ่งซีก ไม้คลุมดิน ดอกสวย มากคุณค่า

พระจันทร์ครึ่งซีก
(Chinese Lobelia, Herba Lobellae Chinensis, aze mushiro, and mizo kakushi)





ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lobelia chinensis  Lour. 

วงศ์ : Campanulaceae


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ต้น      ไม้ล้มลุก ลำต้นขนาดเล็ก ตามข้อมีรากออก ลำต้นเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ชูส่วนยอดขึ้น มี ยางสีขาว
ใบ      ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 0.2-0.6 ซม. ยาว 1-2 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบตัด ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตื้นเกือบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบสั้นมาก
ดอก     ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วง มี 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อม ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดดอกแยกผ่าออก ทำให้กลีบดอกเรียงเพียง ด้านเดียว หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว
ผล      ผลแห้ง แตกออกได้

การปลูกเลี้ยง            ชอบที่ชื้นแฉะ ห้ามขาดน้ำ แสงแดดจัด ๆ ครึ่งวันเป็นอย่างน้อยจะให้ดอกไม่ขาด
ขยายพันธุ์                 ปักชำ เมล็ด

ส่วนที่ใช้   ทั้งต้นสด ขณะที่ดอกกำลังบาน

สรรพคุณ
          ลดไข้ แก้หอบหืด บำรุงปอด แก้อาเจียนเป็นเลือด วัณโรค ปอดพิการอักเสบ ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ บิด ขับปัสสาวะ (เพื่อลดอาการบวมจากไตอักเสบ) ท้องมาน (เนื่องจากพยาธิใบไม้ในเลือดและดีซ่าน) ยาแก้มะเร็ง กระเพาะอาหาร หรือที่ทวารหนัก แก้ข้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก บวมเจ็บ ฝี แผลเปื่อย บาดแผล กลากเกลื้อน ผื่นคัน และแก้คัดจมูก หรือโรคแพ้ เนื่องจากการใช้ยา เข้ารากย่อม

ข้อห้ามใช้ 
          ห้ามใช้ในคนที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว (จีนเรียก ม้ามพร่อง) 

ตำรับยาและวิธีใช้

แก้อาเจียนเป็นเลือด  ใช้ต้นสดตำผสมกับสุราเล็กน้อย รับประทาน

ท้องเสีย  ใช้ต้นสด 15- 30 กรัม (1 กำมือ) ต้มน้ำดื่ม

ทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นสดตำให้ละเอียด ปั้นเป็นก้อนขนาดไข่ไก่ ใส่ในถ้วย เติมเหล้าเข้าไป 90 ซีซี. ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาน้ำแบ่งอม 3 ครั้งๆ ละ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง

บิด ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำ เติมน้ำตาลแดงดื่ม

บวมน้ำ (เพราะไตอักเสบ) ท้องมาน (เนื่องจากพยาธิใบไม้) ใช้ต้นสด 30- 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม

ดีซ่าน ขัดเบา บวมน้ำ ใช้ต้นสด 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา ( Imperata cylindrica Beauv ) 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย แบ่งกิน 2 ครั้ง เช้า-เย็น

เคล็ดขัดยอก บวมเจ็บ ใช้ต้นสด 60 กรัม น้ำ 180 ซีซี. ต้มให้เหลือ 90 ซีซี. กรองเอาน้ำเก็บไว้ นำกากที่เหลือไปต้มอีกครั้งตามอัตราส่วนเดิม นำน้ำกรองครั้งที่ 2 รวมกับครั้งแรก ให้เหลือ 60 ซีซี. เทใส่ขวดเก็บไว้ เวลาใช้เอาสำลีชุบน้ำยา ปิดบริเวณที่ปวดบวม

ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ ใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือเล็กน้อย ตำให้แหลก พอกบริเวณที่เป็น

เต้านมอักเสบ  ใช้ต้นสด ตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น

ตาแดง ใช้ต้นสดจำนวนพอสมควร ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด นำมาพอกบนหนังตา เอาผ้าก็อตที่สะอาดปิด เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง

สารเคมี   สารสำคัญคือ Lobeline, Flavone และ Inulin

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_11_3.htm

ความแตกต่างระหว่างปีบทอง และกาซะลองคำ


โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด (รวมผู้เขียนด้วย) ต้องคิดว่ากาซะลองคำ (กาสะลองคำ) กับปีบทองคือต้นเดียวกันแน่ ๆ
โดยนึกจาก
  กาซะลอง = ปีบ ,  คำ = สีเหลือง สีทอง  ดังนั้น กาซะลองคำก็คือปีบทอง

แต่เมื่ออ่านรายละเอียดจาก สารานุกรมพืชในประเทศไทย (The Encyclopedia of Plants in Thailand) ของสำนักงานหอพรรณไม้แล้ว พบว่า ปีบทอง กับ กาซะลองคำ เป็นคนละต้นกัน


ปีบทอง



ชื่อวิทยาศาสตร์  Radermachera hainanensis Merr.
วงศ์                      Bignoniaceae
ลักษณะ              ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-25 ม. ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ยาว 20-40 ซม. ใบย่อยรูปรีถึงแกมไข่กลับหรือแกมใบหอก ยาว 4-10 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้าง บางครั้งเบี้ยว มีต่อมประปรายด้านท้องใบใกล้โคนใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ คล้ายช่อกระจะ ยาว 1-4 ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือบนกิ่ง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาว 0.8-1.8 ซม. กลีบดอกรูประฆัง สีเหลืองอมส้ม ปากกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 3.5-5 ซม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านเกสรมีต่อมขนขนปกคลุมส่วนในหลอด จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ คล้ายทรงกระบอก มี 2 ช่อง ออวุลเรียง 2 แถวในแต่ละช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ผลแห้งแล้วแตกตามยาว รูปแถบ ยาว 25-40 ซม. เมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 1.2 ซม. รวมปีกใส
เขตการกระจายพันธุ์ ปีบทองมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะจีนตอนใต้ (ยูนาน, ไหนาน) อินโดจีน ในไทยพบในภาคตะวันออก (เขาใหญ่) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จันทบุรี) และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง ระดับความสูง 100-600 เมตร


กาซะลองคำ


ชื่อวิทยาศาสตร์  Radermachera ignea (Kurz) Steenis
วงศ์                      Bignoniaceae
ลักษณะ              ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ยาว 18-60 ซม. ใบประกอบย่อย 3-4 คู่ ใบย่อยมี 3-5 คู่ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 5-12 ซม. สองด้านมักไม่เท่ากัน ปลายใบแหลมบางครั้งยาวคล้ายหาง โคนใบแหลม มักมีต่อมที่โคนด้านหลังใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ออกตามลำต้นหรือกิ่ง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นกาบตรงประมาณกึ่งหนึ่ง หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1.5-2 ซม. กลีบดอกติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว 4.5-7 ซม. สีส้ม ปลายเป็นแฉกสั้นๆ เกสรเพศผู้มีขนปกคลุม ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ฝักยาว 30-45 ซม.
เขตการกระจายพันธุ์  กาซะลองคำมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ (ยูนาน) พม่า ลาว เวียดนาม ในไทยพบตั้งแต่ภาคใต้แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปทางเหนือทางจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน พบตามป่าดิบแล้งและเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1000 เมตร