วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อแตกต่างระหว่างพรมมิกับลานไพลิน



พรมมิ หรือ Bacopa monnieri L.Wettst. เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปใน ประเทศไทยโดยมีถิ่นกำเนิดในเนปาลและอินเดีย เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบก ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ เช่นขอบสระน้ำ ลักษณะลำต้นใหญ่ อวบน้ำ ไม่มีขน เลื้อยทอดไปตามพื้นและชูยอดขึ้น

ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ค่อนข้างยาว โคนใบแคบ ปลายใบกว้างมนกลม ขอบใบเรียบ แตกจากลำต้นแบบตรงกันข้าม ออกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลีบดอกสีขาวหรือสีครามอ่อน ตอนโคนติดกันเป็นหลอดตอนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 4 อัน ติดอยู่กับกลีบดอก
ดอกพรมมิ เกือบจะเป็นสีขาว


แสดงลำต้นที่ไม่มีขนของพรมมิ


       

ส่วนพืชอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ ต้นลานไพลิน หรือ Bacopa caroliniana (Walt) Rob.) เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบกอายุข้ามปี มีลำต้นกลมใหญ่มีขน อาจขึ้นใต้น้ำหรือเลื้อยทอดไปตามพื้น แล้วชูยอดตั้งขึ้น

ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ส่วนโคนใบกว้างกว่าปลายใบ ขอบใบเรียบ แตกจากลำต้นแบบตรงกันข้าม ใบเหนือน้ำหนาและแข็งกว่าใบใต้น้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ เจริญเหนือน้ำ มีก้านดอกสั้น กลีบดอกสีฟ้าคราม โคนกลีบติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบดอกมี 5 แฉก ภายในมีขน เกสรตัวผู้มี 4 อัน

ลักษณะขนที่ลำต้นของลานไพลิน

ดอกลานไพลินสีฟ้าครามเกือบม่วง

 ส่วนการขยายพันธุ์ ทั้งสองชนิดสามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำทั้งคู่ ขึ้นค่อนข้างง่าย


วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่านธรณีสาร

ธรณีสาร

Phyllanthus pulcher Wall. ex Mull. Arg.


วงศ์ Phyllanthaceae


ว่านธรณีสาร เป็นไม้พุ่ม อยู่ในสกุล Phyllanthus กลุ่มเดียวกับลูกใต้ใบ

ลักษณะ ใบเป็นใบประกอบ ใบรูปไข่ขอบขนาน ดอกออกใต้ใบประกอบ ดอกแยกเพศ โดยดอกเพศผู้จะออกใกล้โคนใบ ส่วนดอกเพศเมียจะออกบริเวณปลายใบ ดอกสีเหลืองก้านดอกสีแดง ผลกลมเล็ก

การปลูก  ปลูกได้ดีในดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง สามารถปลูกไว้ทั้งในที่รำไรและแดด ออกดอกตลอดปี

การขยายพันธุ์   เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ

ลักษณะต้น

ดอกเพศผู้ออกที่ใกล้ ๆ โคนใบ

ดอกเพศเมียออกปลายใบ

ลักษณะดอกเพศเมียที่ผสมแล้ว กลีบดอกจะลงมาหุ้มผลไว้
พอแง้มกลีบดอกออกก็จะพบผลรูปทรงกลม

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กะทกรก

ลักษณะใบและต้นครับ
กะทกรก  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflora foetida Linn. อยู่ในวงศ์ Passifloraceae

ชื่ออื่น ๆ  รก กระโปรงทอง ตำลึงฝรั่ง เถาเงาะ หญ้ารกช้าง ผักขี้หิด

ดอกกะทกรกครับ
ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุกเลื้อย ลำต้นมีขนปกคลุม ทั้งต้นมีกลิ่นเหม็นเขียว ใบเดี่ยว รูปไข่ ขอบใบหยักเว้า 3 หยัก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้า ออกดอกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ตามซอกใบ แต่ละดอกมีใบประดับ 3 ใบรองรับ ใบประดับรูปไข่ขอบใบเป็นเส้นใยฝอยสีเขียว กลีบเลี้ยง 3-5 กลีบ รูปขอบขนาน มีติ่งยื่นแหลมตรงปลายกลีบ ด้านในสีขาวด้านนอกสีเขียว กลีบดอก 3-5 กลีบ รูปขอบขนาน สีขาว เกสรตัวผู้ มี 5-8 อัน ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน มีระยางค์เส้นยาว ๆ สีม่วงปลายสีขาวจำนวนมาก ผลค่อนข้างกลม สีเขียว เมื่อแก่สีส้มมีใบประดับหุ้มอยู่
ผลดิบมีใบประดับหุ้ม

พบเห็นทั่วไปตามที่ทิ้งร้าง ริมทาง ชายป่า

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
        ใบสด ใช้พอกแผล รักษาโรคผิวหนังจำพวกหิด
        ทั้งต้น ใช้เป็นยาธาตุ ยาอายุวัฒนะ



อันนี้ดักแด้หนอนกะทกรกครับ


ข้อควรระวัง
      ผลสุก ใบ และยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ แต่ผลดิบสดและใบสดมีสารพิษ Cyanogenetic glycoside ถ้ารับประทานในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรนำผลดิบสดและใบสดมาต้มและรับประทานปริมาณน้อย ๆ จึงจะไม่เป็นอันตราย
ออกจากดักแด้แล้วหน้าตาแบบนี้ครับ สวยดี

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อแตกต่างระหว่างตำแยและตำแยแมว ความเหมือนที่แตกต่าง

ตำแยแมวเป็นพืชอยู่ในสกุล Acalypha spp. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae พบแล้ว 2 ชนิดคือ
 Acalypha indica
     เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบจัก ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีขนตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบและตามปลายยอด  ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง ดอกตัวผู้อยู่ส่วนบน ดอกตัวเมียจะมีใบประดับขนาดใหญ่เป็นรูปถ้วยตื้น ๆ
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
               ทั้งต้น, ราก ใช้เป็นยาถ่าย
               ใบ ขับเสมหะ ฆ่าพยาธิ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน

Acalypha lanceolata
     เป็นไม้ล้มลุก ตามลำต้นมีขนงอชี้ลงปกคลุมตลอดทั่วลำต้น ใบเดี่ยวรูปไข่ ปล่ายใบแหลม ขอบใบจัก ผิวใบด้านบนมีขน ส่วนด้านล่างมีขนเฉพาะตามเส้นใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกตัวเมียอยู่ส่วนล่าง ดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ดอกตัวเมียมีใบประดับขนาดเล็กเป็นรูปถ้วย
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
                ใบ ใช้บ่มหนองหรือชำระแผล


ตำแย  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Laportea interrupta (L.) Chew อยู่ในวงศ์ Urticaceae

     เป็นไม้ล้มลุก มีขนหนามทั่วลำต้น ใบเดี่ยว รูปข่ โคนใบหยักเว้าตื้น ๆ หรือโคนใบตัด ปลายใบแหลม ขอบใบจัก ดอกออกตามซอกใบ มีดอกเล็ก ๆ อัดแน่นเป็นกระจุกตามแกนช่อดอกเป็นระยะ ๆ ดอกขนาดเล็ก
     การใช้ในตำรายาแผนโบราณ
                ใบ ใช้ชำระแผลเปื่อย
                ราก ใช้ชับปัสสาวะ แก้หืด แก้ไอ
                ดอก รักษาแผนบนฝ่าเท้า
    ข้อควรระวัง  ขนหนามทั่วทั้งต้น จะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน คัน และอาจทำให้เกิดลมพิษ


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตำแยแมวอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae มีขนปกคลุมแต่ไม่คัน ส่วน ตำแย อยู่ใน Urticaceae มีขนที่ทำให้คัน 2 ต้นนี้สามารถแยกจากกันได้โดยการดูที่ดอกตัวเมีย โดยตำแยแมวจะมีใบประดับรูปถ้วย และผลจะมีลักษณะเป็นพู 3 พู (ให้นึกถึงดอกและเมล็ดของโป๊ยเซียน) ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเด่นสำหรับพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ครับ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การชำใบบีโกเนีย

ในหน้าของบีโกเนียมีการแสดงรูปการชำใบบีโกเนียอยู่พอสมควร ขอเขียนรายละเอียดอีกทีแล้วกันนะครับ

1. เลือกใบที่สมบูรณ์ที่สุด ก้านใหญ่ อวบ เพราะจะให้ผลดีที่สุด

2. เลือกวิธีที่จะชำ เนื่องจากจุดที่บีโกเนียสามารถแตกต้นอ่อนมีได้หลายจุด ได้แก่
- โคนก้านใบ ซึ่่งเป็นจุดที่ตัด
- รอยต่อระหว่างใบกับก้านใบ
- รอยฉีกขาดระหว่างแผ่นใบ
  ซึ่งจากการสังเกต นอกจากตรงรอยต่อระหว่างใบกับก้านใบแล้ว จุดที่สามารถแตกต้นและออกรากได้คือบริเวณที่เป็นท่อลำเลียงน้ำและอาหาร

แบบฉีกแผ่นใบวางบนกาบมะพร้าว เริ่มแตกรากและต้นอ่อน
3. ปักก้านใบลงในวัสดุปลูก ซึ่งอาจจะเป็นขุยมะพร้าว ทรายหรือดินผสมขุยมะพร้าวก็ได้ โดยให้รอยต่อระหว่างใบกับก้านใบสัมผัสวัสดุปลูก  หากใบใหญ่สามารถฉีกหรือตัดแผ่นใบเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปักลงในวัสดุปลูก โดยให้ท่อลำเลียงสัมผัสกับวัสดุปลูก (บางคนใช้วิธีปักชำในน้ำโดยแช่น้ำเล็กน้อยก็ได้ผลดีเช่นกัน)
จะเห็นได้ว่าต้นอ่อนกำลังแตกตรงรอยต่อแผ่นใบกับก้านใบ

4. รดน้ำให้ชุ่ม ตั้งไว้ในที่ที่ได้แสงแดดพอควร ระวังไม่ให้ถูกฝน เนื่องจากหากแฉะมากจะทำให้เน่าง่าย

อันนี้อันเดียวกับด้านบน หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ เริ่มแตกใบแล้ว

5. รอให้ต้นมีขนาดใหญ่แล้วค่อยแยกปลูก เนื่องจากบางครั้งอาจได้ต้นใหม่มากกว่า 1 ต้น ซึ่งอาจจะแน่นเกินไป

อันนี้ต้นเดียวกับอันแรก เกิดต้นใหม่หลายต้น ต้องแยกกระถาง
สุดท้ายขอให้ผู้ที่ชื่นชอบบีโกเนียมีความสุขกับการขยายพันธุ์นะครับ

การขยายพันธุ์บัวอย่างเร็ว ด้วยการชำใบ

เนื่องจากมีคนเข้ามาชมการปลูกบัวพอสมควร ก็ขอเขียนเกี่ยวกับการขยายพันธุ์บัวบ้างครับ
ตามที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่าบัวแต่ละประเภทขยายพันธุ์แตกต่างกันไป แต่ขอไม่กล่าวถึงการแยกหัว หน่อ หรือไหล นะครับเพราะคิดว่าทุกคนทำเป็นอยู่แล้ว ขอกล่าวถึงวิธีการชำใบบัวก็แล้วกันครับ


บัวที่สามารถชำใบได้มีประเภทเดียวคือบัวผัน หรือบัวสี เป็นบัวที่พบเห็นทั่วไปตามร้านขายครับ และใบที่สามารถเอามาชำได้จะสังเกตเห็นเป็นปุ่มคล้าย ๆ หน่ออยู่ตรงรอยต่อระหว่างใบกับก้านใบครับ

ขั้นตอนการปลูก

1. ขั้นแรกต้องเลือกใบก่อนครับ ใบที่ดีที่สุดคือใบที่สมบูรณ์ เขียวสด ยังไม่เหลือง เนื่องจากสามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหารสำหรับต้นอ่อนได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าใบที่เหลืองแล้วใช้ไม่ได้นะครับ ใช้ได้แต่จะได้หน่อที่ไม่แข็งแรงครับ
หน่อหลังจากแช่น้ำประมาณ 1 สัปดาห์

2. ตัดใบที่เลือกไว้ให้ติดก้านประมาณ 1-2 นิ้วครับ

3. นำไปลอยในน้ำสะอาด หรือปักลงในทรายที่ล้างสะอาดครับ (หากใช้ดินจะมีปัญหาเน่าง่ายครับ) ให้มิดก้านและโคนใบสัมผัสกับทรายแล้วเติมน้ำพอท่วมใบครับ ใช้หินกรวดเล็ก ๆ ทับใบไม่ให้ลอยน้ำ

4. ตั้งไว้ที่ที่ได้รับแสงแดดเล็กน้อย เพื่อป้องกันใบไหม้แต่พอมีแสงให้ได้สังเคราะห์แสง
รูปนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ครับ รูปนี้เริ่มแตกใบอ่อนและรากแล้ว

5. รอให้แตกใบสัก 3-4 ใบครับ ค่อยนำไปปลูกในกระถาง (หากปักในทรายก็คอยเติมน้ำทีละน้อยให้ใบจมน้ำตลอดครับ ) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
อันนี้ก็ประมาณ 3 สัปดาห์ ใบเริ่มแตกพอสมควรแล้ว

6. หลังปลูกซัก 2 เดือนค่อยเริ่มให้ปุ๋ยครับ  ตอนนี้เราก็จะได้บัวต้นใหม่ให้เชยชมแล้วครับ ส่วนจะออกดอกเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับการเลี้ยงของแต่ละคนแล้วครับ

ปล. ภาพประกอบเป็นเพียงการปลูกแบบไม่ตั้งใจนะครับ เนื่องจากต้องเด็ดใบทิ้งอยู่แล้วเลยเอามาเพาะเล่น ๆ ครับ อย่าลอกเลียนแบบเพราะใบเน่าไปหลายใบเลยครับ

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สตรอเบอรี่ประดับ



สตรอเบอรี่ประดับ

Duchesnea indica Focke.

วงศ์ Rosaceae


สตรอเบอรี่ประดับ เป็นไม้ประดับที่มีลักษณะคล้ายสตรอเบอรี่แต่มีขนาดเล็กกว่า ดอกสีเหลือง ผลสุกสีแดง

การปลูก              เครื่องปลูกใช้กาบมะพร้าวสับรองก้นกระถาง แล้วใช้ดินผสมขุยมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกหลัก (ยิ่งดินมากก็จะทำให้ต้นโตเร็ว แต่ถ้ามากเกินไปอาจทำให้น้ำขังได้
                            ชอบแสงแดด อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้ออกดอกตก แตกไหลได้ดี
                            ชอบน้ำปานกลาง ถึงชุ่ม
                            หากปลูกในกระถางขนาดเล็กควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ บำรุงต้นเพื่อให้ออกดอกได้อย่างสม่ำเสมอ

การขยายพันธุ์   แยกไหล โดยการตัดไหลที่มีรากแล้วชำลงในดินผสมขุยมะพร้าว และสามารถเพาะเมล็ดได้ โดยการโรยเมล็ดที่แก่เป็นสีดำแล้วโรยลงบนดินหรือขุยมะพร้าว

การปลูกเป็นไม้ประดับ หากปลูกเป็นไม้คลุมดินในกระถางใหญ่ๆ จะแลดูสวยงามไปอีกแบบ และจากลักษณะที่ผลสุกสีแดง ตัดกับใบสีเขียว จะดูสวยงามมาก

ดอกสีเหลืองเข้ม บาน 1-2 วัน

ผลสุกสีแดงเข้ม มีเมล็ดจำนวนมาก

พวงโกเมน


พวงโกเมน

Mucuna bennettii F. Muell. 

วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONACEAE



พวงโกเมน เป็นไม้เลื้อยโตเร็ว ใบเป็นใบประกอบมี 3 ใบย่อย รูปรี ขนาดประมาณฝ่ามือ ดอกออกเป็นช่อ สีแสด ลักษณะคล้ายดอกแค

ฤดูออกดอก      ช่วงสิงหาคม - ธันวาคม

การปลูกเลี้ยง    ปลูกในดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง มีซุ้มให้เลื้อย เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว

การขยายพันธุ์  ใช้วิธีการตอนกิ่ง








วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ ภาค3

เอื้องดอกมะเขือติดขอน
หลังจากได้พูดถึงกล้วยไม้มาหลากหลายชนิด ตอนนี้จะมาพูดถึงกล้วยไม้กลุ่มที่หลายต่อหลายคนชอบ และเป็นกลุ่มที่ควรอนุรักษ์ไว้ นั่นคือ กล้วยไม้ป่า

กล้วยไม้ป่า มีหลายร้อยชนิด แบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ คือ
1.กล้วยไม้กินซาก เป็นกลุ่มที่พบได้ยากมีอยู่ไม่กี่ชนิด
2.กล้วยไม้อิงอาศัย เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนเยอะที่สุด
3.กล้วยไม้ดิน เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดิน หรือหิน

เอื้องแปรงสีฟันบนขอนไม้
แต่เดิมกล้วยไม้ป่ามักจะเป็นกล้วยไม้ที่นำออกมาจากป่ามาขายโดยตรง หลัง ๆ จะมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์หรือทำให้เป็นลูกผสมที่มีดอกแปลกตา

การปลูก เดิมจะปลูกเลี้ยงคล้ายกับกล้วยไม้โดยทั่วไปคือ ใช้กาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูก ในปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่น ๆ เช่นถ่านทุบ อิฐทุบ ดินเผา มอส ฯลฯ มาใช้ในการปลูก  ซึ่งก่อนจะเลือกเครื่องปลูกเราควรศึกษารายละเอียดของต้นที่เราต้องการปลูกเสียก่อน
รองเท้านารี
1.แหล่งธรรมชาติ  ในกรณีที่เป็นไม้ป่า 100 เปอร์เซ็นต์ เราควรรู้ว่าเป็นไม้ที่ขึ้นที่ใด เช่นขึ้นตามต้นไม้ บนดิน บนหิน ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่แห้งแล้ง ตามภูเขาสูง หรือตามที่ราบ เพราะสิ่งที่จะทำให้ไม้ป่าเจริญได้ดีนั้น สภาพที่ปลูกควรใกล้เคียงกับสภาพกำเนิดให้มากที่สุด
2.การให้น้ำหรือปุ๋ย เนื่องจากธรรมชาติกล้วยไม้จะได้รับอาหารจากต้นไม้หรือพื้นดินที่อยู่ แต่เมื่อปลูกในกระถาง อาจจะได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ
3.ฤดูกาลออกดอก เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างมาก เพราะมีผลกับอารมณ์อย่างยิ่ง เช่น ปลูกกล้วยไม้ที่ออกดอกหน้าหนาว ถิ่นกำเนิดคือยอดดอย แต่ต้องการปลูกในกรุงเทพที่อากาศร้อนแม้ในหน้าหนาวก็ตาม โอกาสที่ออกดอกก็ยาก
เขากวางอ่อน

การปลูก เมื่อเรารู้แล้วว่าแหล่งธรรมชาติเป็นอย่างไร ก็ถึงเวลาปลูกแล้ว
1.พวกอิงอาศัย มีให้เลือกคือ เกาะกับต้นไม้ หรือปลูกในกระถาง
   สำหรับการปลูกแบบเกาะต้นไม้ ต้นที่เหมาะคือต้นที่เปลือกไม่เรียบ สามารถเก็บความชื้นที่เปลือกได้ดี
   สำหรับการปลูกในกระถาง สามารถปลูกได้ทั้งกาบมะพร้าว ถ่านทุบ อิฐมอญทุบ ฯลฯ แต่ที่นิยมคือใช้วัสดุที่ทนทาน อุ้มน้ำได้ดี บางครั้งสามารถจับปลูกกับกระถางดินเผาได้โดยไม่ต้องมีเครื่องปลูกร่วมด้วยก็ได้  หรือปลูกกับขอนไม้ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งการหลีกเลี่ยงกาบมะพร้าวจะดีตรงที่รากกล้วยไม้จะไม่ได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้พบปัญหารากเน่าน้อยลง
ไอยเรศ
2.พวกกล้วยไม้ดิน  วัสดุควรเป็นวัสดุที่โปร่ง น้ำไม่ท่วมขัง อุ้มน้ำพอควร เช่น ถ่านทุบ อิฐมอญทุบ เม็ดดินเผา โฟม กาบมะพร้าวสับ เศษไม้ ผสมกัน หลีกเลี่ยงการใช้ดินจำนวนมากเป็นวัสดุปลูก เพราะมักจะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ทำให้รากเน่าได้ง่าย

ทั้งสองแบบหากปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับควรหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกเมื่อกาบมะหร้าวหมดอายุ

การให้ปุ๋ยมักให้ออสโมโคส หรือปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่น

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาใจใส่ ดูแลรักษา  เพราะไม่มีวิธีปลูกกล้วยไม้ที่ทำให้อยู่รอดและออกดอก 100 เปอร์เซนต์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลจากเจ้าของ ต้องหมั่นสังเกตว่าเราปลูกต้นไม้วางไว้ส่วนไหนของบ้าน รดน้ำมากน้อยเท่าไหร่ ให้ปุ๋ยมากน้อยขนาดไหน จึงจะงามมากที่สุด  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบอกได้ เพราะเป็นธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มีหลักการตายตัวเหมือนคณิตศาสตร์
กะเรกะร่อน

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ ภาค2

จากภาค1 ได้พูดถึงสกุลหลัก ๆ ไปแล้ว 3 สกุล คือ หวาย แคทรียา และแวนดา
ในภาคนี้จะพูดถึงออนซิเดียม  แกรมมาโต และฟาแลนอปซิล ครับ

ออนซิเดียม หากพูดชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นตุ๊กตาเริงระบำ บางคนอาจจะร้อง อ๋อ! และเคยเห็นกันมาบ้าง ลักษณะต้นจะอวบอ้วน ดอกเหมือนกับตุ๊กตาใส่กระโปรง จึงเป็นที่มาของชื่อ ตุ๊กตาเริงระบำ เริ่มต้นจะพบแต่พันธุ์ที่มีดอกสีเหลือง ต่อมาเริ่มมีสีหลากหลายมากขึ้น จนตอนนี้มีพันธุ์แคระดอกเล็ก ๆ แล้ว ดอกออกง่าย ออกมากช่วงฤดูหนาว ต้องการแสงแดดมากพอสมควร แต่ไม่ใช่กลางแดดนะครับ  ปลูกเลี้ยงกับกาบมะพร้าวสับทั่วไป


แกรมมาโต เป็นกลุ่มที่มีต้นใหญ่มาก และจะไม่ออกดอกจนกว่าจะเจริญเต็มที่ สามารถให้ดอกยาวประมาณ 1 เมตร สายพันธุ์ไทยที่รู้จักกันดีก็คือ เพชรหึง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เลี้ยงดูง่าย ตายยาก แต่ก็ออกดอกยาก และมีราคาสูง


ฟาแลนอปซิส หรือ ฟาแลน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ต้องระวังเรื่องความชื้นไม่ให้สูงเกินไปเพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย เป็นกล้วยไม้ที่มีดอกค่อนข้างทน สวยงามสะดุดตา









สรุป  การเลี้ยงกล้วยไม้ 
     การปลูกด้วยกาบมะพร้าวหรือถ่านทุบหรืออิฐมอญทุบ ได้แก่ สกุลหวาย แคทรียา ออนซิเดียม แกรมมาโต และฟาแลนอบซิส
     ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปลูก คือสกุลแวนดา
     ทุกชนิดสามารถปลูกติดกับต้นไม้ได้
     หลีกเลี่ยงน้ำขังบนยอดเพราะจะทำให้ต้นเน่าได้ง่าย ควรฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราช่วงที่มีฝนตกบ่อย ๆ
     กล้วยไม้ทุกชนิดต้องการแสงแดด ไม่ควรไว้ในร่มเกินไปเพราะจะทำให้ต้นอ่อนแอ และไม่ออกดอก


ภาคต่อไปจะเป็นกล้วยไม้ป่าสายพันธุ์ต่าง ๆ

กล้วยไม้ ภาค1

กล้วยไม้เป็นพืชดอกที่มีความสวยงามและหลากหลายชนิด เป็นได้ทั้งไม้อิงอาศัย ไม้กินซาก ขึ้นบนดิน บนหิน ฯลฯ มีทั้งชนิดที่มีดอกหอม ชนิดที่มีสีสวยงาม ไม้ที่มาจากป่าและไม้ที่ได้จากการผสมเกสรเพื่อปรับปรุงพันธุ์  นับพันนับหมื่นชนิด จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชื่นชอบต้นไม้จำนวนมาก บ้านแทบทุกบ้านจะมีกล้วยไม้ประดับอยู่อย่างน้อย 1 ต้น แต่บางบ้านก็ปลูกเลี้ยงได้สวยงาม ออกดอกให้เห็นตลอด แต่บางคนก็ไม่สามารถเลี้ยงให้สวยงามได้ มักจะแกร็นหรือไม่ก็เน่าตาย  ขอแนะนำวิธีเลี้ยงแบบง่าย ๆ เป็นประเภทไปก็แล้วกันครับ

เริ่มต้นจาก พันธุ์ที่มีคนนิยมเลี้ยงมากที่สุด นั่นก็คือ สกุลหวาย (Dendrobium)
        สกุลหวายเป็นกล้วยไม้กลุ่มที่ออกดอกบ่อยที่สุด มีการเพาะเลี้ยงได้หลากหลายสายพันธุ์ที่สุด มีทั้งชนิดที่มีกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น ไม่ต้องดูแลมากมาย  แต่ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือปัญหาต้นเน่า ซึ่งมักเกิดจากการที่รดน้ำแล้วน้ำขังบนยอดทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและทำให้เกิดปัญหาเน่าในที่สุด ทางแก้โดยการรดน้ำที่รากและป้องกันฝนตกลงบนยอด  อีกปัญหาคือเรื่องเพลี้ย ซึ่งอาจทำให้ใบเป็นจุด ๆ ก็ใช้สารเคมีกำจัด  และปัญหาเรื่องหอยทากกันกิน ต้องกำจัดหอยทากภายในบ้านโดยการจับทิ้งหรือใช้ยากำจัดหอยซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปซึ่งได้ผลดี
       การบำรุงก็ให้ปุ๋ยซึ่งที่นิยมใช้ก็คือ ใช้ออสโมโคสโรย 3-6 เดือนครั้ง หรือ ปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่นทางใบ เดือนละครั้ง ก็จะทำให้ดอกดก  และก็หมั่นเติมกาบมะพร้าวเมื่อกาบมะพร้าวเดิมผุพัง



ต่อมาก็สกุลแคทรียา  เป็นสกุลที่มีดอกสีสวย ใหญ่สะดุดตา ออกดอกไม่บ่อยเท่ากับสกุลหวาย แต่ก็ออกดอกได้เรื่อย ๆ วิธีการปลูกเลี้ยงก็คล้ายกับสกุลหวาย และปลูกได้ง่ายกว่าสกุลหวาย แต่มีราคาสูงกว่าสกุลหวายจึงไม่เป็นที่นิยม


ต่อมาสกุลแวนดา   เป็นอีกหนึ่งสกุลที่มีผู้เลี้ยงจำนวนมาก มักปลูกติดกับต้นไม้ดีกว่าปลูกในกระถางเนื่องจากต้นจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ค่อยแตกกิ่ง  ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปลูกเนื่องจากต้องการปริมาณน้ำไม่สูงมาก การให้ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยทางใบ


นอกจากนี้ยังมีสกุลออนซิเดียม  ฟาแลนอปซิส แกรมมาโต และกลุ่มที่เป็นกล้วยไม้ป่า ซึ่งจะต่อในภาคต่อไป