วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ ภาค3

เอื้องดอกมะเขือติดขอน
หลังจากได้พูดถึงกล้วยไม้มาหลากหลายชนิด ตอนนี้จะมาพูดถึงกล้วยไม้กลุ่มที่หลายต่อหลายคนชอบ และเป็นกลุ่มที่ควรอนุรักษ์ไว้ นั่นคือ กล้วยไม้ป่า

กล้วยไม้ป่า มีหลายร้อยชนิด แบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ คือ
1.กล้วยไม้กินซาก เป็นกลุ่มที่พบได้ยากมีอยู่ไม่กี่ชนิด
2.กล้วยไม้อิงอาศัย เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนเยอะที่สุด
3.กล้วยไม้ดิน เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดิน หรือหิน

เอื้องแปรงสีฟันบนขอนไม้
แต่เดิมกล้วยไม้ป่ามักจะเป็นกล้วยไม้ที่นำออกมาจากป่ามาขายโดยตรง หลัง ๆ จะมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์หรือทำให้เป็นลูกผสมที่มีดอกแปลกตา

การปลูก เดิมจะปลูกเลี้ยงคล้ายกับกล้วยไม้โดยทั่วไปคือ ใช้กาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูก ในปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่น ๆ เช่นถ่านทุบ อิฐทุบ ดินเผา มอส ฯลฯ มาใช้ในการปลูก  ซึ่งก่อนจะเลือกเครื่องปลูกเราควรศึกษารายละเอียดของต้นที่เราต้องการปลูกเสียก่อน
รองเท้านารี
1.แหล่งธรรมชาติ  ในกรณีที่เป็นไม้ป่า 100 เปอร์เซ็นต์ เราควรรู้ว่าเป็นไม้ที่ขึ้นที่ใด เช่นขึ้นตามต้นไม้ บนดิน บนหิน ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่แห้งแล้ง ตามภูเขาสูง หรือตามที่ราบ เพราะสิ่งที่จะทำให้ไม้ป่าเจริญได้ดีนั้น สภาพที่ปลูกควรใกล้เคียงกับสภาพกำเนิดให้มากที่สุด
2.การให้น้ำหรือปุ๋ย เนื่องจากธรรมชาติกล้วยไม้จะได้รับอาหารจากต้นไม้หรือพื้นดินที่อยู่ แต่เมื่อปลูกในกระถาง อาจจะได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ
3.ฤดูกาลออกดอก เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างมาก เพราะมีผลกับอารมณ์อย่างยิ่ง เช่น ปลูกกล้วยไม้ที่ออกดอกหน้าหนาว ถิ่นกำเนิดคือยอดดอย แต่ต้องการปลูกในกรุงเทพที่อากาศร้อนแม้ในหน้าหนาวก็ตาม โอกาสที่ออกดอกก็ยาก
เขากวางอ่อน

การปลูก เมื่อเรารู้แล้วว่าแหล่งธรรมชาติเป็นอย่างไร ก็ถึงเวลาปลูกแล้ว
1.พวกอิงอาศัย มีให้เลือกคือ เกาะกับต้นไม้ หรือปลูกในกระถาง
   สำหรับการปลูกแบบเกาะต้นไม้ ต้นที่เหมาะคือต้นที่เปลือกไม่เรียบ สามารถเก็บความชื้นที่เปลือกได้ดี
   สำหรับการปลูกในกระถาง สามารถปลูกได้ทั้งกาบมะพร้าว ถ่านทุบ อิฐมอญทุบ ฯลฯ แต่ที่นิยมคือใช้วัสดุที่ทนทาน อุ้มน้ำได้ดี บางครั้งสามารถจับปลูกกับกระถางดินเผาได้โดยไม่ต้องมีเครื่องปลูกร่วมด้วยก็ได้  หรือปลูกกับขอนไม้ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งการหลีกเลี่ยงกาบมะพร้าวจะดีตรงที่รากกล้วยไม้จะไม่ได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้พบปัญหารากเน่าน้อยลง
ไอยเรศ
2.พวกกล้วยไม้ดิน  วัสดุควรเป็นวัสดุที่โปร่ง น้ำไม่ท่วมขัง อุ้มน้ำพอควร เช่น ถ่านทุบ อิฐมอญทุบ เม็ดดินเผา โฟม กาบมะพร้าวสับ เศษไม้ ผสมกัน หลีกเลี่ยงการใช้ดินจำนวนมากเป็นวัสดุปลูก เพราะมักจะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ทำให้รากเน่าได้ง่าย

ทั้งสองแบบหากปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับควรหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกเมื่อกาบมะหร้าวหมดอายุ

การให้ปุ๋ยมักให้ออสโมโคส หรือปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่น

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาใจใส่ ดูแลรักษา  เพราะไม่มีวิธีปลูกกล้วยไม้ที่ทำให้อยู่รอดและออกดอก 100 เปอร์เซนต์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลจากเจ้าของ ต้องหมั่นสังเกตว่าเราปลูกต้นไม้วางไว้ส่วนไหนของบ้าน รดน้ำมากน้อยเท่าไหร่ ให้ปุ๋ยมากน้อยขนาดไหน จึงจะงามมากที่สุด  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบอกได้ เพราะเป็นธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มีหลักการตายตัวเหมือนคณิตศาสตร์
กะเรกะร่อน

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ ภาค2

จากภาค1 ได้พูดถึงสกุลหลัก ๆ ไปแล้ว 3 สกุล คือ หวาย แคทรียา และแวนดา
ในภาคนี้จะพูดถึงออนซิเดียม  แกรมมาโต และฟาแลนอปซิล ครับ

ออนซิเดียม หากพูดชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นตุ๊กตาเริงระบำ บางคนอาจจะร้อง อ๋อ! และเคยเห็นกันมาบ้าง ลักษณะต้นจะอวบอ้วน ดอกเหมือนกับตุ๊กตาใส่กระโปรง จึงเป็นที่มาของชื่อ ตุ๊กตาเริงระบำ เริ่มต้นจะพบแต่พันธุ์ที่มีดอกสีเหลือง ต่อมาเริ่มมีสีหลากหลายมากขึ้น จนตอนนี้มีพันธุ์แคระดอกเล็ก ๆ แล้ว ดอกออกง่าย ออกมากช่วงฤดูหนาว ต้องการแสงแดดมากพอสมควร แต่ไม่ใช่กลางแดดนะครับ  ปลูกเลี้ยงกับกาบมะพร้าวสับทั่วไป


แกรมมาโต เป็นกลุ่มที่มีต้นใหญ่มาก และจะไม่ออกดอกจนกว่าจะเจริญเต็มที่ สามารถให้ดอกยาวประมาณ 1 เมตร สายพันธุ์ไทยที่รู้จักกันดีก็คือ เพชรหึง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เลี้ยงดูง่าย ตายยาก แต่ก็ออกดอกยาก และมีราคาสูง


ฟาแลนอปซิส หรือ ฟาแลน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ต้องระวังเรื่องความชื้นไม่ให้สูงเกินไปเพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย เป็นกล้วยไม้ที่มีดอกค่อนข้างทน สวยงามสะดุดตา









สรุป  การเลี้ยงกล้วยไม้ 
     การปลูกด้วยกาบมะพร้าวหรือถ่านทุบหรืออิฐมอญทุบ ได้แก่ สกุลหวาย แคทรียา ออนซิเดียม แกรมมาโต และฟาแลนอบซิส
     ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปลูก คือสกุลแวนดา
     ทุกชนิดสามารถปลูกติดกับต้นไม้ได้
     หลีกเลี่ยงน้ำขังบนยอดเพราะจะทำให้ต้นเน่าได้ง่าย ควรฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราช่วงที่มีฝนตกบ่อย ๆ
     กล้วยไม้ทุกชนิดต้องการแสงแดด ไม่ควรไว้ในร่มเกินไปเพราะจะทำให้ต้นอ่อนแอ และไม่ออกดอก


ภาคต่อไปจะเป็นกล้วยไม้ป่าสายพันธุ์ต่าง ๆ

กล้วยไม้ ภาค1

กล้วยไม้เป็นพืชดอกที่มีความสวยงามและหลากหลายชนิด เป็นได้ทั้งไม้อิงอาศัย ไม้กินซาก ขึ้นบนดิน บนหิน ฯลฯ มีทั้งชนิดที่มีดอกหอม ชนิดที่มีสีสวยงาม ไม้ที่มาจากป่าและไม้ที่ได้จากการผสมเกสรเพื่อปรับปรุงพันธุ์  นับพันนับหมื่นชนิด จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชื่นชอบต้นไม้จำนวนมาก บ้านแทบทุกบ้านจะมีกล้วยไม้ประดับอยู่อย่างน้อย 1 ต้น แต่บางบ้านก็ปลูกเลี้ยงได้สวยงาม ออกดอกให้เห็นตลอด แต่บางคนก็ไม่สามารถเลี้ยงให้สวยงามได้ มักจะแกร็นหรือไม่ก็เน่าตาย  ขอแนะนำวิธีเลี้ยงแบบง่าย ๆ เป็นประเภทไปก็แล้วกันครับ

เริ่มต้นจาก พันธุ์ที่มีคนนิยมเลี้ยงมากที่สุด นั่นก็คือ สกุลหวาย (Dendrobium)
        สกุลหวายเป็นกล้วยไม้กลุ่มที่ออกดอกบ่อยที่สุด มีการเพาะเลี้ยงได้หลากหลายสายพันธุ์ที่สุด มีทั้งชนิดที่มีกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น ไม่ต้องดูแลมากมาย  แต่ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือปัญหาต้นเน่า ซึ่งมักเกิดจากการที่รดน้ำแล้วน้ำขังบนยอดทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและทำให้เกิดปัญหาเน่าในที่สุด ทางแก้โดยการรดน้ำที่รากและป้องกันฝนตกลงบนยอด  อีกปัญหาคือเรื่องเพลี้ย ซึ่งอาจทำให้ใบเป็นจุด ๆ ก็ใช้สารเคมีกำจัด  และปัญหาเรื่องหอยทากกันกิน ต้องกำจัดหอยทากภายในบ้านโดยการจับทิ้งหรือใช้ยากำจัดหอยซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปซึ่งได้ผลดี
       การบำรุงก็ให้ปุ๋ยซึ่งที่นิยมใช้ก็คือ ใช้ออสโมโคสโรย 3-6 เดือนครั้ง หรือ ปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่นทางใบ เดือนละครั้ง ก็จะทำให้ดอกดก  และก็หมั่นเติมกาบมะพร้าวเมื่อกาบมะพร้าวเดิมผุพัง



ต่อมาก็สกุลแคทรียา  เป็นสกุลที่มีดอกสีสวย ใหญ่สะดุดตา ออกดอกไม่บ่อยเท่ากับสกุลหวาย แต่ก็ออกดอกได้เรื่อย ๆ วิธีการปลูกเลี้ยงก็คล้ายกับสกุลหวาย และปลูกได้ง่ายกว่าสกุลหวาย แต่มีราคาสูงกว่าสกุลหวายจึงไม่เป็นที่นิยม


ต่อมาสกุลแวนดา   เป็นอีกหนึ่งสกุลที่มีผู้เลี้ยงจำนวนมาก มักปลูกติดกับต้นไม้ดีกว่าปลูกในกระถางเนื่องจากต้นจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ค่อยแตกกิ่ง  ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปลูกเนื่องจากต้องการปริมาณน้ำไม่สูงมาก การให้ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยทางใบ


นอกจากนี้ยังมีสกุลออนซิเดียม  ฟาแลนอปซิส แกรมมาโต และกลุ่มที่เป็นกล้วยไม้ป่า ซึ่งจะต่อในภาคต่อไป

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

เฟิร์น

เฟิร์น เป็นพืชที่มีความนิยมสูงในกลุ่มที่ต้องการสวนในร่ม หรือสวนหินน้ำตก  ที่มีความชุ่มชื้น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเฟิร์น เนื่องจากการปลูกเฟิร์นใช้เนื้อที่ไม่มากจึงได้รับความนิยมสูง

การปลูกเลี้ยง   เฟิร์นสามารถปลูกได้ทั้งดิน กาบมะพร้าว หิน ที่มีความชุ่มชื้น โปร่ง น้ำไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน
สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีทุนมากนัก(หมายถึงผู้ที่ไม่สามารถจัดสวนในร่มหรือสวนน้ำตกได้) มักจะปลูกลงกระถางพลาสติก อิฐหรือกระถางแขวน แนะนำให้ใช้เครื่องปลูกเป็นกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว ดินร่วน ถ่านทุบและทรายหยาบผสมกันเนื่องจากเป็นวัสดุที่หาซื้อง่ายและราคาถูก โดยที่เมื่อรดน้ำให้ชื้น เมื่อกำเครื่องปลูกแล้วปล่อย เครื่องปลูกไม่ควรจับตัวกันเป็นก้อนแน่นจึงจะถือว่าเหมาะสม เริ่มจากการใส่กาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใส่เครื่องปลูกตามลงไป ปลูกเฟิร์นแล้วกลบด้วยเครื่องปลูก รดน้ำด้วยบัวรดน้ำ ไม่ควรใช้สายยางฉีดเนื่องจากจะทำให้เครื่องปลูกกระจาย เนื่องจากจากการสังเกตหากเครื่องปลูกไม่แน่นเกินไปจะทำให้รากเฟิร์นเจริญเติบโตได้ดีกว่าใช้ดินร่วนล้วน ๆ เป็นเครื่องปลูก

สำหรับผู้ที่มีทุน สามารถเลือกเครื่องปลูกที่ดีขึ้นเช่น พีทมอส สแฟกนั่มมอส รากเฟิร์นหัสดำ รากชายผ้าสีดา  ฯลฯ และปลูกในหินฟองน้ำหรือจัดสวนสวย ๆ ได้

การบำรุงรักษา ป้องกันเรื่องหนอนกัดกิน และให้ปุ๋ยบ้างไม่ต้องมากเนื่องจากหากมีปริมาณเกลือในเครื่องปลูกสูงจะทำให้เฟิร์นอ่อนแออาจจะทำให้ตายได้
การขยายพันธุ์  :  แยกกอ หรือเพาะสปอร์






มือใหม่หัดเลี้ยงบัว

การปลูกเลี้ยง
         แสงแดด   :  บัวเป็นพืชน้ำที่ต้องการแสงแดดจัด อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน หากอยู่ในที่ที่ร่มเกินไป ดอกจะออกน้อยลง ก้านใบก้านดอกจะเล็กไม่สมบูรณ์
         น้ำ    :   อ่างน้ำที่จะปลูกบัวควรมีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร จะทำให้บัวเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากว่าน้ำจะไม่ร้อนจัดจนเกินไปเมื่อถูกแสงแดด โดยลองเอามือจุ่มลงในน้ำ ต้องไม่รู้สึกร้อน
         เครื่องปลูก :   ดิน ดินเหนียวสำหรับปลูกบัว ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปก็ได้ หรือใครอยากใช้ทรายก็สามารถใช้ได้แต่อาจจะเปลืองปุ๋ย
         ปุ๋ย  :  สามารถใช้ปุ๋ยสำหรับบัวโดยเฉพาะ หรือ ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ได้ 1-2 อาทิตย์ครั้ง โดยสังเกตดูหากใบเล็กลงหรือมีใบน้อยลงหรือดอกเล็กลงหรือไม่มีดอก แสดงว่าพืชได้รับอาหารน้อยไป ควรเพิ่มปริมาณปุ๋ย แต่อย่าใส่มากเกินไป ประมาณ ครึ่งช้อนชาสำหรับกระถาง 8 นิ้ว

ขั้นตอนการปลูกแบบง่าย ๆ 
สำหรับผู้ที่ต้องการขยายกระถาง
- เริ่มต้นด้วยการโรยปุ๋ย จะเป็น 16-16-16 หรือออสโมโคส หรือปุ๋ยบัว ก็ได้ ไว้ก้นอ่างที่เตรียมไว้ (อาจจะตามด้วยปุ๋ยคอกหรือไม่ก็ได้)
- นำกระถางบัว(กระถางเดิม) วางตรงจุดที่ต้องการจะวางบัว จากนั้นนำเครื่องปลูก (ดินเหนียวจะผสมปุ๋ยคอกหรือไม่ก็ได้) เติมรอบ ๆ กระถางจนระดับเครื่องปลูกเสมอกับเครื่องปลูกเดิมที่อยู่ในกระถาง
- นำกระถางบัวเดิมออกมา ก็จะมองเห็นเป็นช่องสำหรับใส่บัว ปล่อยทิ้งให้ดินเหนียวในอ่างหน้าดินเริ่มหมาด ๆ เพื่อไม่ให้น้ำขุ่นเวลาเติมน้ำ
- ถอดบัวที่อยู่ในกระถางออกมาวางในช่องที่เตรียมไว้กดดินรอบ ๆ ให้แน่น จากนั้นก็เติมน้ำให้เต็มอ่าง เป็นอันเสร็จพิธี

 สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกใหม่
- ทำเหมือนกับต้องการขยายกระถาง เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องทำช่องว่างสำหรับใส่บัว เตรียมเครื่องปลูกให้อยู่ในระดับที่ต้องการก็พอ
- หลังจากตั้งทิ้งไว้ให้ดินเหนียวหมาดแล้ว ก็ปลูกบัวที่เตรียมไว้ลงไป โดยถ้าเป็นบัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ก็ให้ปลูกกลางอ่าง แต่ถ้าเป็นบัวฝรั่ง ก็ปลูกไว้ริมอ่างโดยหันยอดเข้าหากลางอ่าง เป็นอันเสร็จ

การดูแลรักษา  
         เพลี้ยอ่อน  : จะดูดน้ำเลี้ยงจากใบและดอก สังเกตว่าใบจะหงิก หรือเล็ก ไม่สมบูรณ์ จะเป็นเพลี้ยตัวเล็ก ๆ สีแดงหรือน้ำตาล เกาะอยู่ตามก้านใบหรือก้านดอกในส่วนที่โผล่พ้นน้ำ แพร่พันธุ์ได้เร็ว ควรฉีดพ่นด้วยมาลาไธออนเจือจาง ช่วงที่มีการระบาด 2-3 วันครั้ง สัก 3-4 ครั้งติดต่อกัน
         หนอน    :  จะกัดกินใบและดอก ต้องจับทิ้ง
         หอย   : ตัวเต็มไวจับทิ้งและกำจัดไข่ด้วยสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต(จุนสี) คัดไข่หอยทิ้ง โดยเมื่อพลิกใบจะเห็นไข่หอยเกาะอยู่มีลักษณะเป็นวุ้นใส ๆ บางทีอาจเกาะตามก้านใบหรือขอบอ่าง
         สาหร่ายและตะไคร่น้ำ  :  ดึงทิ้งและใส่สารละลายด่างทับทิมกำจัดอีกครั้ง

การขยายพันธุ์  แล้วแต่ชนิดของบัว  ได้ทั้ง เพาะเมล็ด แยกเหง้าหรือหัว หรือปักชำใบ(มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถชำใบได้ ต้องสังเกตตรงตัวใบหากมีปุ่มคล้ายหน่อยื่นอยู่ตรงที่ติดกับก้านแสดงว่าสามารถชำใบได้


ชนิดของบัว

วงศ์ MENYANTHACEAE  ได้แก่ สกุล Nymphoides
วงศ์ NELUMBONACEAE ได้แก่ สกุล Nelumbo
วงศ์ NYMPHAEACEAE ได้แก่ สกุล Nymphaea, Nuphar, Victoria




บัวบาดอกขาวและเหลือง
บัวบา (Nymphoides indica L.)  ขยายพันธุ์โดยการแยกไหล



บัวหลวงขาว (บุณฑริก)
บัวหลวงชมพู (ปทุม ปัทมา)
บัวฉัตรขาว (สัตตบุษย์)
บัวฉัตรชมพู (สัตตบงกช)
บัวหลวง (Nelumbo sp.) ขยายพันธุ์โดยการแยกไหลหรือเพาะเมล็ด



Red flare บัวสายใบแดง
อีกหนึ่งบัวสาย
บัวสาย (Nymphaea sp.)     ขยายพันธุ์โดยการแยกไหลหรือเพาะเมล็ด ต้องการอ่างที่ค่อนข้างลึก







บัวนางกวัก (Nymphaea sp.) ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ







บัวฝรั่ง ( Nymphaea sp.)     ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด ต้องการอ่างที่ค่อนข้างลึก







บัววิคตอเรีย (Victoria sp.) ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ต้องการพื้นที่ค่อนข้างมาก



ฉลองขวัญ ต้องแยกหน่ออย่างเดียวเท่านั้น



บัวผัน บัวเผื่อน (Nymphaea sp.)  ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้า  เพาะเมล็ด หรือชำใบ




บัวญี่ปุ่น (Nuphar japonica)
บัวญี่ปุ่น (Nuphar sp.)  ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

มือใหม่หัดเลี้ยงบีโกเนีย


การปลูกเลี้ยง  
              แสงแดด :   รำไรถึงแดด โดยสภาวะที่เหมาะสมคือบริเวณที่โดนแดดประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน โดยหากได้รับแสงไม่เพียงพอ จะสังเกตได้จาก ลำต้นจะยืดยาว ลำเล็ก หากได้รับแดดมากไปขอบใบจะไหม้ หรือสังเกตจากเครื่องปลูก หากรดน้ำตอนเช้าเมื่อถึงเวลาเย็นเครื่องปลูกจะแห้งพอดี
              น้ำ :   ต้องการน้ำให้เพียงพอตลอดวัน หากไม่พอใบจะเหี่ยว หากมากไปรากจะเน่า โดยรดน้ำวันละครั้งหรือวันเว้นวัน ระวังไม่ให้เครื่องปลูกชื้นแฉะในตอนกลางคืน
              เครื่องปลูก :  มักจะใช้กาบมะพร้าวเป็นหลัก เนื่องจากอุ้มน้ำพอเหมาะ หากใช้ดินมากจะชื้นเกินอาจทำให้รากเน่าได้ง่าย
              ปุ๋ย  :  ใช้ปุ๋ยออสโมโคส หรือ 16-16-16 นาน ๆ ครั้ง เนื่องจากค่อนข้างไวต่อปุ๋ย
การขยายพันธุ์ :  เพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งหรือใบ
ช่วงเวลาออกดอก   :  ออกดอกตลอดแต่จะออกมากช่วงฤดูหนาว - ฤดูร้อน


*หลีกเลี่ยงการโดนฝนเนื่องจากจะทำให้เน่าง่าย หากฝนตกควรเก็บบีโกเนียไว้ในที่ที่ีมีหลังคาบังน้ำฝน










อันนี้กำลังขึ้นเป็นต้น ขนาดพอแยกไปปลูกได้

อันนี้ปักก้านใบลงบนขุยมะพร้าว กำลังแตกตาเป็นกลุ่ม
รูปนี้แตกต้นโตแล้ว